2552-02-02

วิกฤติราคาน้ำมันกำลัง เปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก

จัดทำโดย นางสาว ปารวรรณ จันทร์เนตร 5005106008
นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินสถานการณ์ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไต่ระดับสูงขึ้นของราคาน้ำมันโลกจากที่เคยอยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อทศวรรษที่แล้วมาเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ (แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาก่อนจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) คือการสับเปลี่ยนขั้วอำนาจและอิทธิพลของประเทศต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหลากแขนงทั่วโลก ยิ่งน้ำมันราคาสูงขึ้นไปเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมการบินและการผลิตรถยนต์ การเพิ่มความเข้มข้นระดับนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการลดวิกฤตโลกร้อน รวมไปถึงการเพิ่มอัตราเร่งของประเทศต่างๆ ในการแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ตลอดจนแหล่งพลังงานทางเลือกรูปแบบต่างๆ
ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในตะวันออกกลาง รัสเซีย และเวเนซุเอลา มีรายได้และอิทธิพลมากขึ้น ประเทศยากจนที่สุดของโลกกำลังดิ้นรนเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตราคาน้ำมัน ไม่เว้นแม้กระทั่งประชากรของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนต่อต้นทุนการเดินทางของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่พักย่านชานเมืองกับที่ทำงานในตัวเมือง
ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สภาวะราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และเป็นตัวแปรฉุดให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ทองคำและพืชผลการเกษตร ปรับสูงตามขึ้นไปด้วย จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่า ยุคที่ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว และแนวโน้มมีแต่จะสูงขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกไม่ได้ชะลอตัวลงเลย ขณะที่การค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ ก็มีเพียงไม่กี่แหล่ง ฉะนั้นความคาดการณ์ส่วนใหญ่จึงชี้ว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับสูงขึ้นไปกว่านี้อีกมาก กระนั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งยังคาดหวังว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในสหรัฐอเมริกา หรืออาจจะเป็นเศรษฐกิจจีนด้วย ในปีนี้ น่าจะมีส่วนฉุดให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมาในอนาคตอันใกล้
รายงานของ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ไต่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจอเมริกันที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากปัญหาในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่รูดลง และยอดยึดบ้านติดจำนองที่พุ่งสูงขึ้น แม้โดยลำพังปัจจัยราคาน้ำมันจะไม่ทำให้เศรษฐกิจของมหาอำนาจรายนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนในอดีต เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก แต่ก็เชื่อว่าบทบาทและอิทธิพลในเวทีเศรษฐกิจโลกจะถดถอยลงไปกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศในตะวันออกกลาง อย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งมีรายได้มหาศาลจากรายได้การส่งออกน้ำมัน นอกจากจะมีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว ยังมีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างแดนมากขึ้นอย่างน่าจับตาผ่านทางกองทุนรัฐบาล (sovereign-wealth fund) หรือบรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาล
ข้อมูลจากบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ โค. ระบุว่า ปัจจุบันบรรดากองทุนของผู้ส่งออกน้ำมันที่นำเงินรายได้จากน้ำมันมาลงทุนรวมทั้งกองทุนรัฐบาลดังที่กล่าวมา มีสินทรัพย์อยู่ในการบริหารดูแลมูลค่ารวมๆ กันกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีบรรษัทการลงทุนของยูเออี คือ อาบู ดาบี อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาดการเงิน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ในการบริหารของกองทุนถึง 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีขนาดพอๆ กับธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของทุนตะวันออกกลางในตลาดการเงินโลกเห็นได้ชัดจากการที่ อาบู ดาบี อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี เข้าไปซื้อหุ้นในซิตี้กรุ๊ป ธนาคารใหญ่ของสหรัฐ เป็นมูลค่าถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยอัดฉีดเงินทุนพยุงสถานะทางการเงินให้กับซิตี้กรุ๊ปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ข้อมูลจากบริษัทดีลลอจิก ในกรุงลอนดอน ชี้ว่า แม้กระทั่งก่อนหน้านั้น ทุนจากตะวันออกกลางทั้งจากประเทศบาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ ยูเออี (ซึ่งรวมถึงบรรษัทการลงทุนอาบูดาบี) ได้ใช้เงินซื้อกิจการในต่างประเทศไปแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 124,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เป็นตัวอย่างความมุ่งมั่นที่จะขยายบทบาทเข้าไปในตลาดการเงินโลกของกลุ่มทุนอาบูดาบีก็คือข้อตกลงที่ทำกับบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์นาสแดคของสหรัฐ ซึ่งมีผลทำให้บรรษัทการลงทุนอาบูดาบี ได้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์นาสแดค บริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน และบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์โอเอ็มเอ็กซ์ เอบี ในยุโรป
ล้อมกรอบ
++ความต่างเมื่อเทียบกับวิกฤตราคาน้ำมันในอดีต
แม้ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วในวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังห่างจากสถิติสูงสุดที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2523 เมื่อราคาน้ำมันทะยานขึ้นถึงระดับ 102.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันในอดีตและในขณะนี้แม้จะขยับสูงในระดับที่เกือบจะใกล้เคียงกัน แต่เหตุปัจจัยและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมนับว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก
ในด้านเหตุปัจจัยที่มีผลกระชากให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นนั้น ความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพในบางประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็ยังคงเป็นเหตุผลหนึ่งตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน แต่ตัวแปรด้านอื่นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นภาวะปริมาณน้ำมันตึงตัวในอดีตมักจะมีผลมาจากการลดปริมาณการผลิตด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองของประเทศผู้ส่งออกและมักจะมีขึ้นเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา ตรงข้ามกับภาวะปริมาณน้ำมันตึงตัวในปัจจุบันซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างร้อนแรงกระทั่งทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศในตะวันออกกลางเองด้วย เมื่อช่องห่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมันแคบเข้ามา ตลาดก็มีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อข่าวลือที่เกี่ยวกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันไม่ว่าจะเป็นข่าวความไม่สงบทางการเมืองหรือความไร้เสถียรภาพทางสังคมก็ตาม
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในโลกตะวันตก ต่างก็มีอิทธิพลเหนือแหล่งพลังงานของโลกน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา มีการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลในภูมิภาคต่างๆ ขณะที่รัฐบาลของประเทศซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเหล่านั้นต่างก็พยายามกุมสิทธิเหนือแหล่งพลังงานธรรมชาติของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้แหล่งปริมาณน้ำมันราว 3 ใน 4 ของที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลก ตกอยู่ในการควบคุมดูแลของบริษัทน้ำมันของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ มากกว่าที่จะเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกเช่นในอดีต
ในส่วนของการบริโภคน้ำมัน ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวคือ ทุกๆ 4 บาร์เรลที่มีการผลิตน้ำมันดิบออกมาสู่ตลาดโลกในแต่ละวัน จะมี 1 บาร์เรลป้อนความต้องการบริโภคน้ำมันในสหรัฐอเมริกา และหากคำนวณเฉลี่ยในระดับการบริโภคน้ำมันต่อคนต่อปี ชาวอเมริกันก็ยังเป็นแชมป์ผู้ใช้น้ำมันอันดับ 1 ของโลกอยู่ดี โดยมีอัตราเฉลี่ยการบริโภคน้ำมันมากกว่าชาวอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสมากกว่าสองเท่า และมากกว่าชาวจีนเกือบๆ 13 เท่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีการพึ่งพาน้ำมันน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าแม้ราคาน้ำมันจะทะยานขึ้นไปถึงสถิติสูงสุดเหมือนเมื่อครั้งปี 2522 แรงกดดันที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในยุคดังกล่าว

คำถาม
1. ปัจจุบันประเทศใดยังคงเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก
2. ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วในวันที่เท่าไรและเดือนอะไร
3. รายงานของ ใคร ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ไต่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจ