2552-02-19


จัดทำโดย น.ส. ศิริวรรณ เกิดลำเจียก 5005106020

(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท. คาดปี 52 GDP อาจโตไม่ถึง 0-2% ตามที่ประมาณการไว้
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 4 ชั่วโมง 54 นาทีที่แล้ว
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP)ในปี 52 อาจเติบโตไม่ถึง 0-2% ตามที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดย ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการใหม่ในช่วงปลายเดือนนี้
"GDP ที่ประมาณการครั้งก่อน ค่ากลางโต 1% ตอนนี้ไม่มั่นใจแล้วว่าจะได้ตามนี้ มีโอกาสปรับลดลง เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจไม่นิ่งทั้งไทยและเศรษฐกิจโลก จึงต้องมีการรอัพเดตข้อมูลบ่อยๆ ดังนั้นจะมีการทบทวนข้อมูล GDP ในปลายเดือนนี้" นางธาริษา กล่าวในงานสัมมนา"วิกฤตเศรษฐกิจโลกกับทางออกของคนไทย" สำหรับภาคธุรกิจตอนนี้ไม่ได้มีความเปราะบางดูได้จากยังมีผลกำไรจากการดำเนินงาน และหนี้สินต่อทุนยังต่ำอยู่ที่ 0.8-0.9% ต่ำกว่าปี 40 ที่อยู่ที่ 2% ขณะที่ภาคสถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่ง โดยกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) อยู่ที่เฉลี่ย 14-15% ธปท.ไม่มีความกังวลเพราะยังสามารถปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอยู่ เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินสูงมาก ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคาดว่าจะเห็นผลในครึ่งปีหลังและเศรษฐกิจโลกจะฟื้นในครึ่งปีหลังด้วย ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมที่ธปท.ดู คือ เรื่องของนโยบายการเงินซึ่งได้ผ่อนคลายมามากแล้ว และนโยบายการเงินการคลังในขณะนี้ยังมี Room ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก แต่ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างการเตรียมทบทวนคาดการณ์เศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวเปลี่ยนแปลงหลายครั้งและรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็เป็นไปตามภาวะที่คาดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่นิ่ง และเพียงระยะเวลาแค่เดือนเดียวอัตราการขยายตัว(จีดีพี)ของโลกลดลงไปถึง 1% และหากเศรษฐกิจโลกยังไม่นิ่งก็จะทำให้การส่งออกลดลงอีก และเรื่องของค่าเงินบาท ที่ไม่ให้ผันผวนมาก โดยค่าเงินบาทในปัจจุบันยังอยู่ระดับกลางเทียบภูมิภาค เช่น เกาหลี อินโดนีเซีย ที่อ่อนค่า 20% และจีนที่แข็งค่า โดยหากดูดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง ค่าเงินบาทได้กลับมาใกล้เคียงระดับต้นปี 50 แม้ว่าระหว่างทางจะแข็งค่าขึ้นไปบ้าง โดยเฉลี่ยปี 51 ค่าบาทอ่อนค่า 3% และไม่ว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร แต่ว่าเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้ต้นทุนถูกลง ดังนั้นไทยยังมีความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดี ธปท.พร้อมดูแลค่าเงินบาทถ้ามีความผันผวน พร้อมระบุว่า หากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวลดลง 1% จะทำให้การส่งออกที่แท้จริงลดลง 1.6% แต่ถ้าบาทอ่อนไป 1% จะทำให้ Real Export ขยายตัว 0.2% "ค่าเงินบาท ณวันที่ 2 ก.พ. อ่อนค่า 0.7% คาดว่าปีนี้ทั้งปีเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ เพราะดอลลาร์แข็งค่า ช่วงนี้บาทอ่อนจากสัปดาห์ก่อน" ผู้ว่าการธปท. ระบุ

คำถาม

1.นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าในปี 52 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโตได้กี่%

2.หนี้สินต่อทุนในปี 52 อยู่ทื่กี่% และต่ำกว่าปี 40 กี่%

3.ค่าเงินบาทในปัจจุบันยังอยู่ระดับกลางเทียบภูมิภาคในประเทศใด
จัดทำโดย น.ส. ศิริวรรณ เกิดลำเจียก 5005106020

เงินบาทปิดตลาด 35.52/54 อ่อนค่าต่อเนื่องหลังนักลงทุนหันถือดอลลาร์
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 3 ชั่วโมง 35 นาทีที่แล้ว
นักบริหารเงิน ธนาคารไทยธนาคาร เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 35.52/54 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.38/40 บาท/ดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่าลงตามภูมิภาคหลังจากดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากตลาดมองว่ารัฐบาลสหรัฐได้วางแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็ว ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองดอลลาร์มากขึ้น
-->
-->
window.google_render_ad();
นอกจากนั้น เงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าไล่ซื้อดอลลาร์เก็บ ขณะที่ผู้ส่งออกยังไม่เทขายออกมา ทั้งนี้ยังมองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก โดยมีแนวต้านที่ 35.80 บาท/ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินสกุลต่างประเทศ เงินเยนอยุ่ที่ 93.51/53 เยน/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่อยู่ระดับ 93.82 เยน/ดอลลาร์ เงินยูโร อยู่ที่ 1.2656/57 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าอยู่ที่ระดับ 1.2573/2577 ดอลลาร์/ยูโร

คำถาม

1.เงินบาทปิดตลาดที่ระดับเท่าไหร่

2.ทำไมนักลงทุนจึงหันมาถือครองดอลลาร์มากขึ้น

3.เงินสกุลใดอ่อนค่าลงบ้าง

2552-02-02

วิกฤติราคาน้ำมันกำลัง เปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก

จัดทำโดย นางสาว ปารวรรณ จันทร์เนตร 5005106008
นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินสถานการณ์ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไต่ระดับสูงขึ้นของราคาน้ำมันโลกจากที่เคยอยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อทศวรรษที่แล้วมาเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ (แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาก่อนจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) คือการสับเปลี่ยนขั้วอำนาจและอิทธิพลของประเทศต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหลากแขนงทั่วโลก ยิ่งน้ำมันราคาสูงขึ้นไปเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมการบินและการผลิตรถยนต์ การเพิ่มความเข้มข้นระดับนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการลดวิกฤตโลกร้อน รวมไปถึงการเพิ่มอัตราเร่งของประเทศต่างๆ ในการแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ตลอดจนแหล่งพลังงานทางเลือกรูปแบบต่างๆ
ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในตะวันออกกลาง รัสเซีย และเวเนซุเอลา มีรายได้และอิทธิพลมากขึ้น ประเทศยากจนที่สุดของโลกกำลังดิ้นรนเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตราคาน้ำมัน ไม่เว้นแม้กระทั่งประชากรของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนต่อต้นทุนการเดินทางของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่พักย่านชานเมืองกับที่ทำงานในตัวเมือง
ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สภาวะราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และเป็นตัวแปรฉุดให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ทองคำและพืชผลการเกษตร ปรับสูงตามขึ้นไปด้วย จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่า ยุคที่ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว และแนวโน้มมีแต่จะสูงขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกไม่ได้ชะลอตัวลงเลย ขณะที่การค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ ก็มีเพียงไม่กี่แหล่ง ฉะนั้นความคาดการณ์ส่วนใหญ่จึงชี้ว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับสูงขึ้นไปกว่านี้อีกมาก กระนั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งยังคาดหวังว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในสหรัฐอเมริกา หรืออาจจะเป็นเศรษฐกิจจีนด้วย ในปีนี้ น่าจะมีส่วนฉุดให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมาในอนาคตอันใกล้
รายงานของ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ไต่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจอเมริกันที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากปัญหาในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่รูดลง และยอดยึดบ้านติดจำนองที่พุ่งสูงขึ้น แม้โดยลำพังปัจจัยราคาน้ำมันจะไม่ทำให้เศรษฐกิจของมหาอำนาจรายนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนในอดีต เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก แต่ก็เชื่อว่าบทบาทและอิทธิพลในเวทีเศรษฐกิจโลกจะถดถอยลงไปกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศในตะวันออกกลาง อย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งมีรายได้มหาศาลจากรายได้การส่งออกน้ำมัน นอกจากจะมีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว ยังมีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างแดนมากขึ้นอย่างน่าจับตาผ่านทางกองทุนรัฐบาล (sovereign-wealth fund) หรือบรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาล
ข้อมูลจากบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ โค. ระบุว่า ปัจจุบันบรรดากองทุนของผู้ส่งออกน้ำมันที่นำเงินรายได้จากน้ำมันมาลงทุนรวมทั้งกองทุนรัฐบาลดังที่กล่าวมา มีสินทรัพย์อยู่ในการบริหารดูแลมูลค่ารวมๆ กันกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีบรรษัทการลงทุนของยูเออี คือ อาบู ดาบี อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาดการเงิน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ในการบริหารของกองทุนถึง 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีขนาดพอๆ กับธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของทุนตะวันออกกลางในตลาดการเงินโลกเห็นได้ชัดจากการที่ อาบู ดาบี อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี เข้าไปซื้อหุ้นในซิตี้กรุ๊ป ธนาคารใหญ่ของสหรัฐ เป็นมูลค่าถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยอัดฉีดเงินทุนพยุงสถานะทางการเงินให้กับซิตี้กรุ๊ปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ข้อมูลจากบริษัทดีลลอจิก ในกรุงลอนดอน ชี้ว่า แม้กระทั่งก่อนหน้านั้น ทุนจากตะวันออกกลางทั้งจากประเทศบาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ ยูเออี (ซึ่งรวมถึงบรรษัทการลงทุนอาบูดาบี) ได้ใช้เงินซื้อกิจการในต่างประเทศไปแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 124,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เป็นตัวอย่างความมุ่งมั่นที่จะขยายบทบาทเข้าไปในตลาดการเงินโลกของกลุ่มทุนอาบูดาบีก็คือข้อตกลงที่ทำกับบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์นาสแดคของสหรัฐ ซึ่งมีผลทำให้บรรษัทการลงทุนอาบูดาบี ได้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์นาสแดค บริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน และบริษัทบริหารตลาดหลักทรัพย์โอเอ็มเอ็กซ์ เอบี ในยุโรป
ล้อมกรอบ
++ความต่างเมื่อเทียบกับวิกฤตราคาน้ำมันในอดีต
แม้ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วในวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังห่างจากสถิติสูงสุดที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2523 เมื่อราคาน้ำมันทะยานขึ้นถึงระดับ 102.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันในอดีตและในขณะนี้แม้จะขยับสูงในระดับที่เกือบจะใกล้เคียงกัน แต่เหตุปัจจัยและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมนับว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก
ในด้านเหตุปัจจัยที่มีผลกระชากให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นนั้น ความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพในบางประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็ยังคงเป็นเหตุผลหนึ่งตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน แต่ตัวแปรด้านอื่นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นภาวะปริมาณน้ำมันตึงตัวในอดีตมักจะมีผลมาจากการลดปริมาณการผลิตด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองของประเทศผู้ส่งออกและมักจะมีขึ้นเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา ตรงข้ามกับภาวะปริมาณน้ำมันตึงตัวในปัจจุบันซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างร้อนแรงกระทั่งทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศในตะวันออกกลางเองด้วย เมื่อช่องห่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมันแคบเข้ามา ตลาดก็มีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อข่าวลือที่เกี่ยวกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันไม่ว่าจะเป็นข่าวความไม่สงบทางการเมืองหรือความไร้เสถียรภาพทางสังคมก็ตาม
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในโลกตะวันตก ต่างก็มีอิทธิพลเหนือแหล่งพลังงานของโลกน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา มีการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลในภูมิภาคต่างๆ ขณะที่รัฐบาลของประเทศซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเหล่านั้นต่างก็พยายามกุมสิทธิเหนือแหล่งพลังงานธรรมชาติของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้แหล่งปริมาณน้ำมันราว 3 ใน 4 ของที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลก ตกอยู่ในการควบคุมดูแลของบริษัทน้ำมันของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ มากกว่าที่จะเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกเช่นในอดีต
ในส่วนของการบริโภคน้ำมัน ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวคือ ทุกๆ 4 บาร์เรลที่มีการผลิตน้ำมันดิบออกมาสู่ตลาดโลกในแต่ละวัน จะมี 1 บาร์เรลป้อนความต้องการบริโภคน้ำมันในสหรัฐอเมริกา และหากคำนวณเฉลี่ยในระดับการบริโภคน้ำมันต่อคนต่อปี ชาวอเมริกันก็ยังเป็นแชมป์ผู้ใช้น้ำมันอันดับ 1 ของโลกอยู่ดี โดยมีอัตราเฉลี่ยการบริโภคน้ำมันมากกว่าชาวอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสมากกว่าสองเท่า และมากกว่าชาวจีนเกือบๆ 13 เท่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีการพึ่งพาน้ำมันน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าแม้ราคาน้ำมันจะทะยานขึ้นไปถึงสถิติสูงสุดเหมือนเมื่อครั้งปี 2522 แรงกดดันที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในยุคดังกล่าว

คำถาม
1. ปัจจุบันประเทศใดยังคงเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก
2. ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วในวันที่เท่าไรและเดือนอะไร
3. รายงานของ ใคร ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ไต่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจ

2552-01-25

จัดทำโดย น.ส. มณฑารพ วงษ์สว่าง 5005106005 FM

โอบามาฉีกหน้าบุชล้มคำสั่งห้ามส่งเงินหนุนทำแท้ง [25 ม.ค. 52 - 04:14]
ประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิม ซึ่งห้ามส่งเงินกองทุนรัฐช่วยเหลือองค์กรหรือคลินิกในต่างประเทศทั่วโลก ที่ให้ การช่วยเหลือหรือรับปรึกษาการทำแท้งและวิธีการวางแผนครอบครัวอื่นๆ ที่ ดำเนินมา 8 ปี ภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่า “นโยบายเม็กซิโกซิตี” เพราะมองว่า “ไม่จำเป็นและบ่อนทำลายการวางแผนครอบครัวในชาติกำลังพัฒนา”
นโยบายดังกล่าวมีออกมาครั้งแรกสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกนจากพรรครีพับลิกันในปี 2527 จากนั้นมีทั้งใช้และยกเลิกตามแต่ว่ารีพับลิกันหรือเดโมแครต ฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาล และยังเป็นประเด็นทางการเมืองถกเถียงยืดเยื้อจนเกิดการแบ่งขั้วแบ่งข้าง การลงนามของโอบามาสร้างความยินดีให้กับฝ่ายสนับสนุนและองค์กรสิทธิมนุษยชนและสุขอนามัยกว่า 250 แห่งทั่วโลก ที่เห็นว่าช่วยฉีกนโยบายที่ทำให้สตรีและเด็กสาวทั่วโลกเสียชีวิตและบาดเจ็บนับไม่ถ้วน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์และว่าจะเคลื่อนไหวให้กลับมาใช้ตามเดิม
ขณะเดียวกัน โอบามาต่อสายตรงหารือกษัตริย์อับดุลเลาะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย เรื่องปัญหาตะวันออกกลางและตอกย้ำถึงมิตรภาพที่ดีต่อกัน รวมถึง ร่วมกันปราบปรามก่อการร้ายต่อไป อีกทั้งยังพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ แห่งอังกฤษ ถึงสถานการณ์ในกาซา และการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในอัฟกานิสถานถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ พร้อมรับปากว่าจะเข้าร่วมประชุมจี 20 ที่ กรุงลอนดอน ช่วงเดือน เม.ย.นี้
นอกจากนี้ โอบามายืนยันกับนายกฯสตีเฟน ฮาร์เปอร์ แห่งแคนาดา ว่าจะไปเยือนแคนาดาเป็นประเทศแรกตามวัฒนธรรมของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ส่วนข้อสนทนากับนายบัน กี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องระดับโลก เช่น ภาวะโลกร้อน วิกฤติเศรษฐกิจโลก เป็นต้น.



Q: นโยบาย “เม็กซิโกซิตี้” หมายถึงอะไร
Q: นโยบายดังกล่าวเริ่มตั้งแต่สมัยไหน
Q: โอบามาหารือกับกษัตริย์อับดุลเลาะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อแก้ปัญหาอะไร

2552-01-19

นายกฯ เผยมีแผนสำรอง-อาจกู้ตปท.เพิ่มหากมาตรการกระตุ้นศก.ไม่ได้ผล

จัดทำโดย น.ส.ศศิธร ปิ่นวิเศษ 5005106025

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลเตรียมแผนสำรองหากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุดแรกไม่ประสบผลสำเร็จ โดยกระทรวงการคลังได้ เตรียมจัดหาเงินทุนและแหล่งทุนไว้แล้ว ซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศก็เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่ทั้การจะนำแผนสำรองดังกล่าวออกมาใช้หรือไม่ต้องขึ้นกับสถานการณ์เป็นหลัก
"เราก็มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบแรก ก็หวังว่าจะทำได้ตั้งแต่ไตรมาส 1,2,3 แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าพอถึงไตรมาส 3 สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เราก็ต้องมีการเตรียมแผนรองรับไว้ ซึ่ง
กระทรวงการคลังก็เตรียมไว้ทั้งในแง่แหล่งเงินทุนต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ ต้องดูสถานการณ์"นายกรัฐมนตรี ระบุ
พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมพร้อมไว้ เพราะการดำเนินการใดๆ จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท โดยแผนสำรองดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะไปพิจารณาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องปูพื้นฐา นำไปสู่นโยบายระยะกลางและระยะยาวต่ไป
ส่วนจะถึงขั้นต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้กับแผนสำรองดังกล่าวหรี อไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะใช้ในจำนวนมากน้อยเพียงใด จะถึงระดับแสนล้านบาทอย่างที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ และคงต้องขึ้นอยู่กับสัดส่วนของหนี้สาธารณะเป็นหลัก
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโอกาสที่ได้พบปะกับนักลงทุนในวันนี้ว่า รัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยให้คำยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความเข้มแข็งเหมือนเดิม และรัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ลืมที่จะมองโอกาสในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนคือการทำงานของรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่าวันนี้นักลงทุนคงจะเห็นได้ถึงความตั้งใจ ตลอดจนแผนงานและทิศทางการทำงานของรัฐบาลที่ชัดเจนมากขึ้น แต่การเรียกความเชื่อมั่นเพียงวันเดียวคงจะไม่พอ รัฐบาลยังจำเป็นต้องเดินสายทำความเข้าใจแก่นานาประเทศต่อไปด้วย


คำถาม
1. กระทรวงใดได็เตรียมจัดหาเงินทุนและแหล่งทุน
2. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะไปพิจารณาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องปูพื้นฐา
นำไปสู่นโยบาย ระยะ
ใด
3. นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโอกาสที่ได้พบปะกับนักลงทุนว่าอย่างไร

2552-01-11

ธอส.กดดอกเบี้ยต่ำ5%พยุงศก. พาณิชย์เปิดตลาดนัดสร้างงาน

จัดทำโดย น.ส.ธนัชพร จินดามณีโรจน์ 5005106011
ธอส.กดดอกเบี้ยต่ำ5%พยุงศก. พาณิชย์เปิดตลาดนัดสร้างงาน
หน่วยงานรัฐระดมรับมือเศรษฐกิจตกสะเก็ด ธอส.เข็นแพ็คเก็จเงินกู้ซื้อบ้านคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% หลังได้เงินเพิ่มทุน 2,000 ล้าน เพิ่มพนักงานเกาะติดหนี้เสีย สั่งสาขารายงานตรงสำนักงานใหญ่ ส่วนลูกค้าที่ตกงาน-ถูกลดเงินเดือนมีเฮ ได้ลดดอกเบี้ย-ยืดหนี้พิจารณารายกรณี ขณะที่ “พาณิชย์” กางแผนสร้างอาชีพคนตกงาน 1 แสนราย-กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการฝึกอบรมทำธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดพื้นที่ทั่วประเทศเจาะลึกทุกอำเภอเปิดตลาดนัดจตุจักร
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลต้องการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐโดยเฉพาะ ธอส. ในการเป็นแกนนำปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนกู้ซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งในเร็วๆ นี้คาดว่านายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้มีมมติเพิ่มทุนให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสองแห่ง คือธนาคารออมสิน และ ธอส. เป็นวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่ง ธอส.จะได้เม็ดเงินตามวงเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วอนุมัติในวงเงิน 2,000 ล้านบาท
“วงเงินที่ได้ถึงแม้จะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ ธอส.ต้องการมาก แต่เมื่อได้มาจะทำให้อัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงดีขึ้น และจะต้องมาคำนวณว่า จะนำเงินดังกล่าวจะนำไปรวมกับสภาพคล่องของธนาคารที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 60,000 ล้านบาท เช่น ออกพันธบัตร 3-5 ปี หรือทำอย่างอื่นให้ได้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด เพื่อให้สามารถนำเงินมาปล่อยกู้แก่ประชาชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% ได้”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย 3 สมาคมหลักคือสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมรับสร้างบ้านและสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อสอบถามถึงความต้องการ รวมถึงปัญหา เพื่อนำมากำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งบ้านหลังแรกและบ้านมือสอง ส่วนในวันนี้ (12 ม.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเรียกคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมหารือ
สำหรับการดำเนินงานของ ธอส. ในปีนี้จะปรับลดเป้าหมายการดำเนินงานลงจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่เกิน 2% โดยเป้าหมายการปล่อยกู้ลงเหลือ 7.5 หมื่นล้าน น้อยลงจากสิ้นปีที่ผ่านมาปล่อยกู้ได้ 8.1 หมื่นล้านบาท แต่หากมีความต้องการก็พร้อมจะปล่อยกู้ เพราะมีสภาพคล่องที่เหลือเพียงพอ
นอกจากนี้ ธอส. ยังจับตามปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มของลูกค้าสวัสดิการที่หักค่างวดผ่อนชำระสินเชื่อบ้านจากเงินเดือนโดยตรง โดยทำการแบ่งประเภทตามกลุ่มธุรกิจ เช่น ภาคการผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ ท่องเที่ยว รวมทั้งหน่วยงานราชการ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของพอร์ตลูกค้าทั้งหมด
อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการติดตามหนี้เป็นพิเศษ โดยเพิ่มพนักงานในส่วนของแบดแบงก์ และให้แต่ละสาขารายงานปัญหาหนี้เอ็นพีแอลของลูกค้าขึ้นตรงต่อสำนักงานใหญ่ จากเดิมจะรายงานต่อผู้จัดการแต่ละสาขา และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 4 เดือนหลัง ปี 51 นั้นจำนวนเอ็นพีแอลของธอส.ลดลงมากคือประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับมาคิดเอ็นพีแอลแบบขั้นบันใดเริ่มเข้าที่เข้าทาง
ส่วนมาตรการที่ ธอส.จะนำมาใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจนส่งผลกระทบต่อรายได้ของลูกค้าธนาคารนั้น จะให้การพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงของลูกค้า อาทิ ลูกค้าที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกลดเงินเดือน ลดเวลาการทำงาน ไม่มีเงินผ่อนชำระค่างวดตามที่กำหนดไว้เดิม ธอส.จะไม่ยึดบ้านโดยทันแต่อาจจะให้ผ่อนชำระตามกำลังรายได้ที่แท้จริง โดยใช้มาตรการเช่น ลดดอกเบี้ย กรณีที่ลูกค้าได้ผ่อนชำระมาแล้วหลายปีอาจทำการยืดระยะเวลาผ่อนออกไปเพื่อให้ค่างวดรายเดือนน้อยลง
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าจะเป็นช่วงขาลง โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดลดลงดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.75-1%จนดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.75% หรือ 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% ซึ่งผู้ที่ต้องการของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยควรเลือกแพ็คเกจอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เอ็มอาร์อาร์ลบ ในช่วงแรกเพราะจะได้รับประโยชน์จากการลดลงของดอกเบี้ย แต่หากเป็นอัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้นควรเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่เพื่อให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไม่ต้องปรับขึ้นตามภาวะตลาดได้
***“พาณิชย์” ลุยสร้างอาชีพคนตกงาน
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่มีการประเมินว่าจะมีนตกงานขั้นต่ำ 1 ล้านคน และขั้นสูง 2 ล้านคนในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ตกงานประมาณ 1 แสนคนให้มีงานทำ มีอาชีพ ในการเลี้ยงชีพ โดยจะช่วยฝึก ช่วยสอน ช่วยอบรม ให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่วงการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาคนตกงาน และยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ ซึ่งจะของบประมาณจำนวน 1,200 ล้านบาทจากงบประมาณกลางปี
ทั้งนี้ แนวทางแรกจะดำเนินการ ได้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการหน้าใหม่ ตั้งเป้าไว้จำนวน 8 หมื่นราย โดยการเชื่อมโยงผู้ที่สนใจทำธุรกิจกับเจ้าของแฟรนไชส์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีธุรกิจหลากหลายมากที่ผ่านการฝึกอบรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหลายๆ รายก็ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ และหากตกลงกันได้แล้ว ก็จะขอให้พันธมิตร ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน โดยเบื้องต้นจะมีธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มาช่วยปล่อยกู้
“เราจะไปคุยกับเจ้าของแฟรนไชส์ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ เราต้องช่วยกัน ค่าแฟรนไชส์ที่เคยเรียกเก็บเต็มราคา ก็ขอให้ลดลงครึ่งนึง เช่น จาก 3 หมื่นบาท เหลือ 1.5 หมื่นบาท แล้วคนที่จะทำธุรกิจโดยซื้อแฟรนไชส์ เราก็จะขอให้แบงก์ปล่อยกู้เป็นเงินทุนไปซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งจะให้รายละ 2 หมื่นบาท ซึ่งจะช่วยให้มีธุรกิจเกิดใหม่อีกจำนวนมาก”นายอลงกรณ์กล่าว
ผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ จะช่วยให้ระบบธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะขยายตัวตามไปด้วย เช่น หากเป็นสินค้าอาหาร สินค้าที่เป็นวัตถุดิบทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ก็จะมีความต้องการใช้มากขึ้น เกษตรกรก็จะได้รับผลดีจากการขายสินค้าได้ในราคาที่ดีขึ้น
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนที่ 2 จะพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดต่างๆ ตั้งเป้าไว้จำนวน 2 หมื่นราย โดยมีรูปแบบดำเนินการ 3 รูปแบบ คือ จะพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไนท์พลาซ่า แล้วเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว โครงการจตุจักร วอกกิ่ง สตรีท และจตุจักร ลานคนเดิน โดยจะยึดคอนเซ็ปต์ตลาดนัดจตุจักร และจะจัดให้มีใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสินค้าที่จะนำมาขาย จะเป็นสินค้าจากผู้ส่งออกที่มีปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อชะลอตัว มาจัดจำหน่าย เพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้าส่งออกที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก แต่ราคาถูก
“จะจัดทั้งหมด 1 พันจุดทั่วประเทศ สรุปคือจะมีอำเภอละจุด และเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมีมากหน่อย แล้วเราจะรับสมัครคนว่างงานประมาณ 2 หมื่นคน ให้เข้ามาขายสินค้าในพื้นที่ๆ เราได้เลือกไว้ ซึ่งจะช่วยทำให้คนมีงานทำ และช่วยให้ประชาชนลดค่าครองชีพอีก”นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ยังได้ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรับรูปแบบการศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจ เป็นศูนย์พัฒนาธุรกิจแทน เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือคนตกงาน ที่อยากจะทำธุรกิจ โดยสามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะมีคำแนะนำและแนวทางในการทำธุรกิจต่างๆ มากมาย
นอกจากนี้ ยังจะได้เปิดคลีนิกให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจในพื้นที่สำคัญ เช่น ตลาดนัดจตุจักร และในจังหวัดสำคัญๆ ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคต่างๆ ด้วย เพื่อรับมือกับปัญหาคนตกงานที่ต้องการจะทำธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กระทรวงฯ จะของบประมาณจากงบกลางปี 1 แสนล้านบาท จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท แยกเป็น 3 พันล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการกระตุ้นการส่งออก และอีก 9 พันล้านบาท เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาคนตกงาน การช่วยเหลือสินค้าเกษตร และช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน

คำถาม
1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือใคร
2. นายอลงกรณ์ จะพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดต่างๆ ตั้งเป้าไว้จำนวน 2 หมื่นราย โดยกี่มีรูปแบบ อะไรบ้าง
3.นายอลงกรณ์ พลบุตร คือใคร

2552-01-05

เรื่อง " สหพัฒน์ " อ้าแขนรับคนตกงานปีวัว จัดทำโดย นางสาวเปรมวดี เตชะพงศ์ประเสริฐ 5005106021

" สหพัฒน์ " อ้าแขนรับคนตกงานปีวัว

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 52 สหพัฒน์จะเปิดรับสมัครพนักงานใหม่รวมกว่า 1,000 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า และค้าปลีก ที่ยังขาดแคลนแรงงานใหม่จำนวนมาก และกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีคำสั่งซื้อสินค้าจาก กลุ่มยุโรปและสหรัฐสูงมาก เนื่องจากประเทศดังกล่าวได้ชะลอสั่งซื้อสินค้าจากจีนที่มีปัญหาคุณภาพสินค้า ดังนั้น บริษัทจึงขอยืนยันว่า จะไม่มีแผนปลดพนักงานในเครือสหพัฒน์ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 100,000 คน อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เห็นว่าปัญหาการว่างงานในประเทศไทยไม่น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายคาด ไว้ ที่ระบุว่าในปี 52 อาจมีคนตกงานใหม่กว่า 1 ล้านคน เนื่องจากมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมืออยู่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ค้าปลีก และโรงงานตัดเย็บ ดังนั้น ภาครัฐควรหาทางผลักดันแรงงานที่ตกงานอยู่จำนวนมาก ให้หาตำแหน่งงานใหม่ได้ โดยจัดสำรวจความต้องการแรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ และหาทางผลักดันหรือโยกย้ายให้แรงงานเคลื่อนย้ายเข้าสู่จังหวัดที่ยังต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน

สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 52 นั้น มองว่า ไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งดีอยู่ และไม่น่ากังวลมากแต่อย่างใด เพราะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คาดว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้


ที่มา http://www.dailynews.co.th/

คำถาม

1. ใครเป็นประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล

2. กลุ่มแรงงานที่ยังขาดแคลนในปี 2552 คือกลุ่มใด

3. แนวโน้มในปี 2552 จะเป็นอย่างไร

2552-01-03

จับตาส่งออกปี52 อัศวินตกหลังม้า

จัดทำบทความโดย 5005106017 นางสาวจตุพร ญาณนิธิกุล

จับตาส่งออกปี52 อัศวินตกหลังม้า วัดฝีมือ 'โอบามาร์ค'ผ่าแผนกู้วิกฤต
ฉลู 2552 แหล่งรายได้ใหญ่ของประเทศอย่างการส่งออก ถูกจับตามองว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และกลายเป็นชนวนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยต้องล้มพับตามวิกฤติเศรษฐกิจโลกไปด้วย เนื่องเพราะ 2 ใน 3 ของรายได้ประเทศ พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือวันนี้ขนาดยังไม่พ้นเดือนข้ามปีดี สัญญาณอันน่าสะพรึงกลัว กลับคืบคลานมาเร็วและแรงกว่าที่คิด เพียงเดือน พ.ย. 51 ยอดส่งออกกลับติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วถึง 18.6%


ส่องกล้องมอง
ย้อนภาพไปปี 51 ภาคการส่งออกถือเป็นพระเอกหนึ่งเดียว ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ ท่ามกลางปัจจัยตัวอื่นจากภาคลงทุน การท่องเที่ยว กระทั่งการบริโภคภายในประเทศที่หยุดชะงัก โดยกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าการส่งออกปี 51 จะมีมูลค่าประมาณ 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12.5% แม้ปีนี้จะโอเค แต่ปีหน้าหากจะฝากความหวังไว้ที่ภาคส่งออกต่อ อาจ ไม่ใช่งานง่าย เพราะแรงกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และความวุ่นวายทางการเมืองของไทยรุนแรงกว่าที่คิดมากนัก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้หนัก หน่วง และแตกต่างจากสมัยต้มยำกุ้งปี 40 มาก เพราะปัญหาเมื่อ 10 ปีก่อน มีต้นตอจากเศรษฐกิจภายในไทยเอง ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบ และมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ ทำให้การส่งออกขยายตัวมากและช่วยกอบกู้เศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นจากวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากครั้งนี้ที่ปัญหาเกิดขึ้นจากภายนอก และเกิดกับคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งนั้น ทำให้การส่งออกเกิดปัญหาทันที เพราะไม่มีผู้ซื้อสินค้า ประมาณการจากปราชญ์เศรษฐกิจหลายสำนักทั้งฟันธง และคอนเฟิร์มว่าการส่งออกปี 52 น่าเป็นห่วงมาก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าอย่างเก่งการส่งออกไทยคงขยายตัวได้ 0-1% เท่านั้น ด้านศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองอย่างแง่บวกว่าจะอาจโตได้ 3-6% ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจะโตเหลือ 4.4% ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดจะขยายตัว 2-3% แต่ที่เลวร้ายสุดเห็นจะเป็น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน การเข้มงวดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐใช้มาตรการกีดกันกุ้งไทย ออสเตรเลียระบุให้ไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดในกุ้ง หรือจะเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ที่เวลานี้ผู้ประกอบการว่า 70% ร้องว่าฝืดอย่างหนัก เพราะคู่ค้าต่างชะลอการจ่ายเงิน ยืดเครดิตออกไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาทุนมาเสริมสภาพคล่องได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องหามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งรีบ

ปัจจัยบวก
แต่ใช่ว่าจะมีเรื่องบั่นทอนกำลังใจกันอย่างเดียว ปัจจัยเกื้อหนุนการส่งออกปี 52 ยังมีให้เห็นเป็นความหวังเล็กน้อยอยู่ อันดับแรก ผลจากที่หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่องต้นปี 52 โดยเฉพาะการอัดเงินเข้าระบบ 1 ล้านล้านเหรียญ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของพี่ใหญ่ สหรัฐอเมริกา จะส่งผลเชิงบวกให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง 52 ตามไปด้วย ซึ่งหมายถึงว่ากำลังซื้อจากทั่วโลก กำลังจะกลับมาอีกครั้งด้วย แม้ครึ่งปีแรกอาจต้องอดทนยอมรับความลำบากก็ตาม ต่อมาคือแรงกดดันจากเรื่องต้นทุนการผลิต การขนส่งที่หายไป เพราะราคาน้ำมันดิบลดลงแล้ว และไม่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดปี 52 โดยสำนักงานคณะกรรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดว่าจะทรงตัว 60-70 เหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการดูแลต้นทุนและแข่งขันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลดีจากการเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ในหลายมิติ ทั้งทวิภาคี พหุภาคี ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบ เสียภาษีลดลง หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารในทั่วโลกยังเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข่าวดีต่อไทยมาก เพราะไทยถือเป็นเมืองกสิกรรม ผลิตอาหารได้มหาศาล โดย ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก มองว่า “โชคดีของไทย ที่สินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นของจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ อาหาร สินค้าเกษตรไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แม้เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่คนก็ยังต้องบริโภคเพิ่มอยู่ จึงเชื่อว่าสินค้าเกษตรจะขยายตัวได้ และช่วยอุ้มส่งออกโดยรวมได้มาก” แถมโชคดีชั้นสองของไทย ที่ตามมาก็คือ อานิสงส์จากปัญหาสารเมลามีนปนเปื้อนผลิตภัณฑ์อาหารของจีน ที่ถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญของไทย ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาสั่งซื้อสินค้าไทยแทนจีนแล้ว เพราะมีความปลอดภัยกว่า ส่งผลให้ปีหน้าสินค้ากลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรจะกลายเป็นตัวชูโรง ขับเคลื่อนการส่งออกไทยให้เดินหน้าต่อได้ โดยกระทรวงพาณิชย์วางให้แผนผลักดันสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการฝ่าวิกฤติส่งออกนี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 52 สัดส่วนการส่งออกหมวดสินค้าอาหารและเกษตร จะเพิ่มเป็น 19% จากเดิมที่มี 17% ของภาพการส่งออกรวม ซึ่งจะช่วยรายได้ และสร้างงานอีกมหาศาลให้คนไทย เพราะยุทธศาสตร์ต่อมาที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งใช้คือ การรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ สำหรับตลาดใหม่ที่เน้นส่งเสริมเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อย โดยเฉพาะอาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา เพื่อเพิ่มสัดส่วนส่งออก และมูลค่าการค้าเป็น 67% มาก ขึ้นจากปี 51 ที่มีสัดส่วน 65.3% ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลายรูปแบบ เช่น โรดโชว์ เทรดโชว์ การร่วมมือของภาคเอกชนรวม 318 โครงการ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจมาก ขณะที่ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกโดยตรง และมีสัดส่วนของการส่งออกถึง 34.7% จะเน้นแค่รักษาฐานส่งออกเดิมไว้ก่อน และหาเป้าหมายผู้ซื้อใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยสินค้าส่งออกคุณภาพ รูปแบบดี เพราะกลุ่มคนรวยในประเทศเหล่านี้ยังมีกำลังซื้อดีอยู่ พร้อมกับสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปติดต่อส่งสินค้าถึงเป้าหมาย ห้างสรรพสินค้า ตัวแทนการขายโดยตรง พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นในพื้นที่เป้าหมายอีก 173 โครงการ ขณะเดียวกัน เร่งส่งเสริมให้ธุรกิจบริการ เป็นแกนนำหารายได้เข้าประเทศเพิ่ม เพราะอุตสาหกรรมนี้มีขนาดใหญ่สร้างงานทางตรงได้ 1 ล้านคน ทางอ้อมอีก 20 ล้านคน ที่สำคัญสร้าง เงินหมุนเวียนสูงถึง 500,000 ล้านบาทต่อปี หากผลักดันดีจะช่วยชดเชยรายได้จากการขายสินค้าที่ขาดหายไปมาก สำหรับบริการที่เร่งผลักดันให้โกอินเตอร์ เช่น ร้านอาหารไทย ธุรกิจบันเทิงภาพยนตร์ การศึกษา สปาและโรงพยาบาล รวมทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ ออกแบบก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ บริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีแผนงานส่งเสริมทั่วโลก 102 โครงการ

แรงขับเคลื่อนจากรัฐบาลใหม่
หันไปดูแรงขับเคลื่อนจากภาคการเมือง รัฐบาลชุดใหม่ พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน เพื่อตอบสนองสินเชื่อให้กับผู้ส่งออก รวมทั้งช่วยหาตลาดใหม่ ๆ ให้มากที่สุด พร้อมกับจัดเวิร์กช็อปใหญ่ร่วมกับเอกชน 20 กลุ่ม ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ขณะที่กระบี่มือสอง อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ มีแผนว่า จะผลักดันการส่งออกให้ถึง 5% ด้วยการเตรียมขออนุมัติงบ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณกลาง 1 แสนล้านบาท มาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง โดยเน้นในตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย และกลุ่มประเทศซีไอเอส เพิ่มจากเดิมที่มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้ว 60 แห่ง ขณะเดียวกันจะหาทางเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ด้วยการเสนอให้จัดทำแพ็กกิ้ง เครดิต วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมสนับสนุนปล่อยกู้แก่เอกชนไทย เพื่อนำไปทำการค้าการลงทุน และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ตั้งเงินกู้อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออก แต่โปรเจคท์ทั้งหมดต้องรอดูว่าจะทำได้จริง หรือเป็นแค่โปรเจคท์ขายฝันของนักการเมืองทั่วไป

ข้อเสนอ-ทางรอด
ทรรศนะจากผู้ใหญ่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และข้อเสนอในการเอาตัวรอด นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยฝากไว้กับการส่งออก ซึ่งต้องดูว่าตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 จะเป็นอย่างไร หากแย่ภาพรวมคงแย่ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอ นิกส์ สินค้าไอที ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล เพราะแหล่งผลิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทลงทุนข้ามชาติจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่สินค้าที่เป็นของคนไทยและใช้วัตถุดิบในประเทศมาก เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้นผู้ส่งออกต้องปรับตัว รับมือกับสภาพคล่องตึงตัวจากการที่ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ด้วยการทำประกันการส่งออก การดูแลระดับการผลิต การลดสินค้าคงคลัง การถือหนังสือรับรองเครดิต (แอลซี) ให้สั้นลง และรัฐบาลต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่น ลด ภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย บริหาร จัดการอัตราแลก เปลี่ยนให้ยืด หยุ่นมากกว่านี้ อย่างเกาหลีใต้ ค่าเงินวอนลดค่า 30% ออสเตรเลียค่าเงินลดลงไป 30% ต่างจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไม่ถึง 3% สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า การส่งออกคงไม่เติบโต แต่ไม่ลดลงจากปี 51 ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องใช้กลยุทธ์หลากหลาย แข่งขันช่วงชิงลูกค้า เพราะเวลานี้ตลาดใหม่ทุกประเทศก็มุ่งเข้าเจาะตลาดเหมือนกับไทย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องไขลาน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ ด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทย พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กล่าวว่า ภาพการส่งออกปี 52 จะติดลบและไม่ขยายตัวเลย เพราะได้รับ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และกำลังซื้อลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของลูกค้าที่จะสั่งซื้อสินค้าไทยหายไปจากการปิดสนามบิน ทำให้คำสั่งซื้อในไตรมาสแรกปี 52 แทบไม่เหลือ แต่หากเศรษฐกิจของสหรัฐ ฟื้นตัวได้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวตาม และในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 52 อาจเห็นการส่งออกไทยกลับเป็นบวกอีกครั้ง ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะต้องพยายามช่วยผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนกำลังซื้อในตลาดหลักที่หดตัว แต่เป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยเวลามาก กว่าจะเชื่อมั่นกัน ยิ่งการเมืองไทยมีปัญหาภายในบ่อย ก็ยิ่งทำให้ลำบากขึ้นอีก
เห็นได้ว่าปีวัวนี้ อัศวินขี่ม้าขาวของเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการส่งออก กำลังเสี่ยงตกม้าตาย เป็นการบ้านสำคัญให้รัฐต้องเร่งแก้โดยด่วน เพราะหากส่งออกล้มครืนขึ้นมา คงมีปัญหาไล่หลังมาอีกมากมาย ทั้งโรงงานปิดกิจการ คนตกงาน นักศึกษาว่างงาน รวมถึงปัญหาสังคม อาชญากรรม ถือเป็นเผือกร้อนที่จะวัดฝีมือ บริหารงานของรัฐบาลมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะลบคำสบประมาทว่า รัฐบาลมือใหม่หัดขับได้หรือไม่.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186773&NewsType=1&Template=1
คำถาม
ข้อ1. วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้แย่กว่าสมัยต้มยำกุ้งปี 40 อย่างไร
ข้อ2. สศช. ประเมินราคาน้ำมันดิบเท่าไรและมีผลต่ผู้ประกอบการอย่างไร
ข้อ3. รองประธานกรรมการหอการค้าไทย พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล คาดการณ์ว่าการส่งออกปี 52 จะเป็นอย่างไร เพราะอะไร