2552-01-03

จับตาส่งออกปี52 อัศวินตกหลังม้า

จัดทำบทความโดย 5005106017 นางสาวจตุพร ญาณนิธิกุล

จับตาส่งออกปี52 อัศวินตกหลังม้า วัดฝีมือ 'โอบามาร์ค'ผ่าแผนกู้วิกฤต
ฉลู 2552 แหล่งรายได้ใหญ่ของประเทศอย่างการส่งออก ถูกจับตามองว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และกลายเป็นชนวนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยต้องล้มพับตามวิกฤติเศรษฐกิจโลกไปด้วย เนื่องเพราะ 2 ใน 3 ของรายได้ประเทศ พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือวันนี้ขนาดยังไม่พ้นเดือนข้ามปีดี สัญญาณอันน่าสะพรึงกลัว กลับคืบคลานมาเร็วและแรงกว่าที่คิด เพียงเดือน พ.ย. 51 ยอดส่งออกกลับติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วถึง 18.6%


ส่องกล้องมอง
ย้อนภาพไปปี 51 ภาคการส่งออกถือเป็นพระเอกหนึ่งเดียว ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ ท่ามกลางปัจจัยตัวอื่นจากภาคลงทุน การท่องเที่ยว กระทั่งการบริโภคภายในประเทศที่หยุดชะงัก โดยกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าการส่งออกปี 51 จะมีมูลค่าประมาณ 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12.5% แม้ปีนี้จะโอเค แต่ปีหน้าหากจะฝากความหวังไว้ที่ภาคส่งออกต่อ อาจ ไม่ใช่งานง่าย เพราะแรงกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และความวุ่นวายทางการเมืองของไทยรุนแรงกว่าที่คิดมากนัก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้หนัก หน่วง และแตกต่างจากสมัยต้มยำกุ้งปี 40 มาก เพราะปัญหาเมื่อ 10 ปีก่อน มีต้นตอจากเศรษฐกิจภายในไทยเอง ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบ และมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ ทำให้การส่งออกขยายตัวมากและช่วยกอบกู้เศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นจากวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากครั้งนี้ที่ปัญหาเกิดขึ้นจากภายนอก และเกิดกับคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งนั้น ทำให้การส่งออกเกิดปัญหาทันที เพราะไม่มีผู้ซื้อสินค้า ประมาณการจากปราชญ์เศรษฐกิจหลายสำนักทั้งฟันธง และคอนเฟิร์มว่าการส่งออกปี 52 น่าเป็นห่วงมาก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าอย่างเก่งการส่งออกไทยคงขยายตัวได้ 0-1% เท่านั้น ด้านศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองอย่างแง่บวกว่าจะอาจโตได้ 3-6% ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจะโตเหลือ 4.4% ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดจะขยายตัว 2-3% แต่ที่เลวร้ายสุดเห็นจะเป็น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน การเข้มงวดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐใช้มาตรการกีดกันกุ้งไทย ออสเตรเลียระบุให้ไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดในกุ้ง หรือจะเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ที่เวลานี้ผู้ประกอบการว่า 70% ร้องว่าฝืดอย่างหนัก เพราะคู่ค้าต่างชะลอการจ่ายเงิน ยืดเครดิตออกไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาทุนมาเสริมสภาพคล่องได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องหามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งรีบ

ปัจจัยบวก
แต่ใช่ว่าจะมีเรื่องบั่นทอนกำลังใจกันอย่างเดียว ปัจจัยเกื้อหนุนการส่งออกปี 52 ยังมีให้เห็นเป็นความหวังเล็กน้อยอยู่ อันดับแรก ผลจากที่หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่องต้นปี 52 โดยเฉพาะการอัดเงินเข้าระบบ 1 ล้านล้านเหรียญ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของพี่ใหญ่ สหรัฐอเมริกา จะส่งผลเชิงบวกให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง 52 ตามไปด้วย ซึ่งหมายถึงว่ากำลังซื้อจากทั่วโลก กำลังจะกลับมาอีกครั้งด้วย แม้ครึ่งปีแรกอาจต้องอดทนยอมรับความลำบากก็ตาม ต่อมาคือแรงกดดันจากเรื่องต้นทุนการผลิต การขนส่งที่หายไป เพราะราคาน้ำมันดิบลดลงแล้ว และไม่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดปี 52 โดยสำนักงานคณะกรรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดว่าจะทรงตัว 60-70 เหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการดูแลต้นทุนและแข่งขันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลดีจากการเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ในหลายมิติ ทั้งทวิภาคี พหุภาคี ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบ เสียภาษีลดลง หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารในทั่วโลกยังเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข่าวดีต่อไทยมาก เพราะไทยถือเป็นเมืองกสิกรรม ผลิตอาหารได้มหาศาล โดย ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก มองว่า “โชคดีของไทย ที่สินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นของจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ อาหาร สินค้าเกษตรไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แม้เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่คนก็ยังต้องบริโภคเพิ่มอยู่ จึงเชื่อว่าสินค้าเกษตรจะขยายตัวได้ และช่วยอุ้มส่งออกโดยรวมได้มาก” แถมโชคดีชั้นสองของไทย ที่ตามมาก็คือ อานิสงส์จากปัญหาสารเมลามีนปนเปื้อนผลิตภัณฑ์อาหารของจีน ที่ถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญของไทย ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาสั่งซื้อสินค้าไทยแทนจีนแล้ว เพราะมีความปลอดภัยกว่า ส่งผลให้ปีหน้าสินค้ากลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรจะกลายเป็นตัวชูโรง ขับเคลื่อนการส่งออกไทยให้เดินหน้าต่อได้ โดยกระทรวงพาณิชย์วางให้แผนผลักดันสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการฝ่าวิกฤติส่งออกนี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 52 สัดส่วนการส่งออกหมวดสินค้าอาหารและเกษตร จะเพิ่มเป็น 19% จากเดิมที่มี 17% ของภาพการส่งออกรวม ซึ่งจะช่วยรายได้ และสร้างงานอีกมหาศาลให้คนไทย เพราะยุทธศาสตร์ต่อมาที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งใช้คือ การรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ สำหรับตลาดใหม่ที่เน้นส่งเสริมเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อย โดยเฉพาะอาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา เพื่อเพิ่มสัดส่วนส่งออก และมูลค่าการค้าเป็น 67% มาก ขึ้นจากปี 51 ที่มีสัดส่วน 65.3% ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลายรูปแบบ เช่น โรดโชว์ เทรดโชว์ การร่วมมือของภาคเอกชนรวม 318 โครงการ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจมาก ขณะที่ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกโดยตรง และมีสัดส่วนของการส่งออกถึง 34.7% จะเน้นแค่รักษาฐานส่งออกเดิมไว้ก่อน และหาเป้าหมายผู้ซื้อใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยสินค้าส่งออกคุณภาพ รูปแบบดี เพราะกลุ่มคนรวยในประเทศเหล่านี้ยังมีกำลังซื้อดีอยู่ พร้อมกับสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปติดต่อส่งสินค้าถึงเป้าหมาย ห้างสรรพสินค้า ตัวแทนการขายโดยตรง พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นในพื้นที่เป้าหมายอีก 173 โครงการ ขณะเดียวกัน เร่งส่งเสริมให้ธุรกิจบริการ เป็นแกนนำหารายได้เข้าประเทศเพิ่ม เพราะอุตสาหกรรมนี้มีขนาดใหญ่สร้างงานทางตรงได้ 1 ล้านคน ทางอ้อมอีก 20 ล้านคน ที่สำคัญสร้าง เงินหมุนเวียนสูงถึง 500,000 ล้านบาทต่อปี หากผลักดันดีจะช่วยชดเชยรายได้จากการขายสินค้าที่ขาดหายไปมาก สำหรับบริการที่เร่งผลักดันให้โกอินเตอร์ เช่น ร้านอาหารไทย ธุรกิจบันเทิงภาพยนตร์ การศึกษา สปาและโรงพยาบาล รวมทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ ออกแบบก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ บริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีแผนงานส่งเสริมทั่วโลก 102 โครงการ

แรงขับเคลื่อนจากรัฐบาลใหม่
หันไปดูแรงขับเคลื่อนจากภาคการเมือง รัฐบาลชุดใหม่ พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน เพื่อตอบสนองสินเชื่อให้กับผู้ส่งออก รวมทั้งช่วยหาตลาดใหม่ ๆ ให้มากที่สุด พร้อมกับจัดเวิร์กช็อปใหญ่ร่วมกับเอกชน 20 กลุ่ม ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ขณะที่กระบี่มือสอง อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ มีแผนว่า จะผลักดันการส่งออกให้ถึง 5% ด้วยการเตรียมขออนุมัติงบ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณกลาง 1 แสนล้านบาท มาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง โดยเน้นในตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย และกลุ่มประเทศซีไอเอส เพิ่มจากเดิมที่มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้ว 60 แห่ง ขณะเดียวกันจะหาทางเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ด้วยการเสนอให้จัดทำแพ็กกิ้ง เครดิต วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมสนับสนุนปล่อยกู้แก่เอกชนไทย เพื่อนำไปทำการค้าการลงทุน และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ตั้งเงินกู้อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออก แต่โปรเจคท์ทั้งหมดต้องรอดูว่าจะทำได้จริง หรือเป็นแค่โปรเจคท์ขายฝันของนักการเมืองทั่วไป

ข้อเสนอ-ทางรอด
ทรรศนะจากผู้ใหญ่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และข้อเสนอในการเอาตัวรอด นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยฝากไว้กับการส่งออก ซึ่งต้องดูว่าตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 จะเป็นอย่างไร หากแย่ภาพรวมคงแย่ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอ นิกส์ สินค้าไอที ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล เพราะแหล่งผลิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทลงทุนข้ามชาติจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่สินค้าที่เป็นของคนไทยและใช้วัตถุดิบในประเทศมาก เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้นผู้ส่งออกต้องปรับตัว รับมือกับสภาพคล่องตึงตัวจากการที่ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ด้วยการทำประกันการส่งออก การดูแลระดับการผลิต การลดสินค้าคงคลัง การถือหนังสือรับรองเครดิต (แอลซี) ให้สั้นลง และรัฐบาลต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่น ลด ภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย บริหาร จัดการอัตราแลก เปลี่ยนให้ยืด หยุ่นมากกว่านี้ อย่างเกาหลีใต้ ค่าเงินวอนลดค่า 30% ออสเตรเลียค่าเงินลดลงไป 30% ต่างจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไม่ถึง 3% สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า การส่งออกคงไม่เติบโต แต่ไม่ลดลงจากปี 51 ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องใช้กลยุทธ์หลากหลาย แข่งขันช่วงชิงลูกค้า เพราะเวลานี้ตลาดใหม่ทุกประเทศก็มุ่งเข้าเจาะตลาดเหมือนกับไทย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องไขลาน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ ด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทย พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กล่าวว่า ภาพการส่งออกปี 52 จะติดลบและไม่ขยายตัวเลย เพราะได้รับ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และกำลังซื้อลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของลูกค้าที่จะสั่งซื้อสินค้าไทยหายไปจากการปิดสนามบิน ทำให้คำสั่งซื้อในไตรมาสแรกปี 52 แทบไม่เหลือ แต่หากเศรษฐกิจของสหรัฐ ฟื้นตัวได้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวตาม และในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 52 อาจเห็นการส่งออกไทยกลับเป็นบวกอีกครั้ง ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะต้องพยายามช่วยผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนกำลังซื้อในตลาดหลักที่หดตัว แต่เป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยเวลามาก กว่าจะเชื่อมั่นกัน ยิ่งการเมืองไทยมีปัญหาภายในบ่อย ก็ยิ่งทำให้ลำบากขึ้นอีก
เห็นได้ว่าปีวัวนี้ อัศวินขี่ม้าขาวของเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการส่งออก กำลังเสี่ยงตกม้าตาย เป็นการบ้านสำคัญให้รัฐต้องเร่งแก้โดยด่วน เพราะหากส่งออกล้มครืนขึ้นมา คงมีปัญหาไล่หลังมาอีกมากมาย ทั้งโรงงานปิดกิจการ คนตกงาน นักศึกษาว่างงาน รวมถึงปัญหาสังคม อาชญากรรม ถือเป็นเผือกร้อนที่จะวัดฝีมือ บริหารงานของรัฐบาลมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะลบคำสบประมาทว่า รัฐบาลมือใหม่หัดขับได้หรือไม่.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186773&NewsType=1&Template=1
คำถาม
ข้อ1. วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้แย่กว่าสมัยต้มยำกุ้งปี 40 อย่างไร
ข้อ2. สศช. ประเมินราคาน้ำมันดิบเท่าไรและมีผลต่ผู้ประกอบการอย่างไร
ข้อ3. รองประธานกรรมการหอการค้าไทย พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล คาดการณ์ว่าการส่งออกปี 52 จะเป็นอย่างไร เพราะอะไร