2551-11-30

นางสาว ศศิธร ปิ่นวิเศษ 5005106025
เศรษฐกิจไทยเจ๊ง 2 แสนล้าน ม.หอการค้าชี้วุ่นวาย ยืดเยื้อจะโงหัวไม่ขึ้น [28 พ.ย. 51 - 05:34]

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ไทยเปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยว่า หากสถานการณ์การเมืองไม่คลี่คลายภายในเดือน ธ.ค.นี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังมีการชุมนุมต่อเนื่องและปิดสนามบินอยู่จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 134,000-215,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 76,120 ล้านบาท การส่งออก 25,000-40,000 ล้านบาท การลงทุน 12,000-40,000 ล้านบาท และการบริโภค 21,000-30,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 4.1-4.4%


อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และยกเลิกปิดสนามบินในสัปดาห์นี้ความเสียหายจะลดลงเหลือเพียง 73,000-130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 42,000-75,000 ล้านบาท การส่งออก 10,000-24,000 ล้านบาท การลงทุน 6,000-11,000 ล้านบาท และการบริโภค 15,000-20,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต 4.5-4.8%


“สถานการณ์ความวุ่นวายควรจบโดยเร็ว รัฐบาล ต้องเลือกทางแก้ไขที่แยบยลและไม่รุนแรงเพราะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก หากทำไม่ได้นายกรัฐมนตรีก็ต้องยุบสภา หรือลาออก แต่ก็จะทำให้ เศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า เพราะโครงการเมกะโปรเจกต์การเบิกจ่ายงบประมาณขาดดุล 100,000 ล้านบาทจะชะงัก รวมถึงไทยจะเสียหายและเสียโอกาสจากการไม่สามารถลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศในการประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้ แต่ก็จะเป็นผลดีในระยะยาวหากปล่อยให้ยืดเยื้อจะกระทบต่อภาพรวมมากกว่า แต่ไม่ควรใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพราะภาพพจน์ไทยจะยิ่งแย่ลงและแก้ปัญหายากขึ้น” ปรับเป้าปีหน้าเศรษฐกิจโต 2%


นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะขยายตัวเพียง 2-3% จากที่คาดการณ์ ไว้เดิมที่ 3-4% เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คิดประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะภาคอุตสาหกรรม การผลิตได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงรวมถึงการบริโภคของประชาชนและการลงทุนชะลอลงเช่นกัน ที่สำคัญอาจมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคน


ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งสำรวจผู้ประกอบการท่องเที่ยว 218 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 79.60% ได้รับผลกระทบ ขณะที่ 20.40% ยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด คือการปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่กลุ่มตัว อย่างให้คะแนนสูงสุดถึง 9.6 จากเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือสถานการณ์ ทางการเมือง 8.7 วิกฤติการเงินโลก 8.3 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่าหลังปิดสนามบินสุวรรณภูมินักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 47.32% นักท่อง เที่ยวไทยลดลง 21.80% ยอดจอง (ทัวร์ โรงแรม) ลดลง 35.78% และยกเลิกการจองที่พัก/ทัวร์ 47.54%

“ในไตรมาส 3 ของ ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 2.14 ล้านคน ลดลง 16.14% จากช่วงเดียว กันของปีก่อนส่วนในเดือน ต.ค.2551 มีเพียง 749,976 คนลดลง 11.12% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนเพราะปัญหาความวุ่นวายทาง การเมืองเป็นสำคัญยิ่งมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิอีก นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยปี 2551 ประมาณ 14 ล้านคน จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักเพราะในจำนวนนี้เดินทางโดยเครื่องบิน 11.9 ล้านคน โดยอาจทำให้ จำนวนลดลงเฉลี่ยวันละ 30,000-40,000 คนได้”

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในระยะสั้นมากคือกลุ่มพันธมิตรฯต้องออกจากสนามบินโดยเร็วนายกรัฐมนตรีไม่ควรยุบสภา หรือลาออกเพราะจะยิ่งทำให้การบริหารงานบ้านเมืองหยุดชะงัก ไม่ สามารถนำงบขาดดุล 100,000 ล้านบาทมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะขี้เหร่อย่างไรก็ต้องบริหารบ้านเมืองต่อ โดยรัฐบาลอาจเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯเพื่อหาทางออกและยอมรับเงื่อนไขบางอย่างของ กลุ่มพันธมิตรฯ เช่น เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าต่อได้ ห่วงว่างงานเพิ่มอาชญากรรมพุ่ง

นางเสาวณีย์กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่สามารถนำงบประมาณขาดดุล 100,000 ล้านบาท มาใช้ได้จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมามหาศาลเพราะไม่มีแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการเมะโปรเจกต์เดินหน้าต่อไม่ได้ การลงทุนภาครัฐ การบริโภคชะลอตัวลง ธุรกิจเอสเอ็มอีตายก่อน คนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนต่างด้าวที่จะต้องถูกปลดออกจากงานต่อ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ยอมกลับประเทศ เมื่อไม่มีงานทำก็อาจก่ออาชญากรรมเกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมตามมา

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ทางรอดอุตสาหกรรมไทยปี 52” ถึงผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิว่า ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านคาร์โก้เสียหายถึง 3,000 ล้านบาทต่อวัน โดยแบ่งเป็นการนำเข้าสินค้า 1,800 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปที่ใช้ในประเทศเช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการส่งออก 1,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอาหาร ผัก และผลไม้สด และสินค้าเกษตรที่มีตลาดหลักคือ อเมริกา และยุโรป ซึ่งการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้มีความเสียหายแล้วประมาณ 9,000 ล้านบาท

“ช่วงแรกคงจะไม่กระทบอะไรมาก แต่ในระยะยาวก็อาจทำให้เสียตลาดไปได้ เพราะประเทศคู่ค้าคงต้องหันไปหาตลาดใหม่แทน โดยมองว่า ไม่ควรจะยืดเยื้อเกิน 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้เสียหายสูงถึง 20,000 ล้านบาท และอาจจะมีผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีประมาณ 30-50 รายที่ต้องหยุดผลิต เพื่อรอให้เหตุการณ์สงบก่อน”

ทั้งนี้ ปี 2551 การขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) มีมูลค่ารวม 760,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพีรวมทั้งประเทศที่อยู่ 6 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าปี 2552 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 750,000-760,000 ล้านบาท ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาสินค้าหลายตัวปรับลดลงมาก โดยเฉพาะราคาข้าว.

ไทยรัฐ ข่าวเศรษฐกิจ
ปีที่ 59 ฉบับที่ 18574 วันศุกร์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2551
คำถาม
1.ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า คือใคร
2.นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งสำรวจผู้ประกอบการท่องเที่ยว กี่ตัวอย่าง
3.นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กล่าวในงานเสวนาเรื่อง“ทางรอดอุตสาหกรรมไทยปี 52” ถึงผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิว่า อย่างไร